ความมุ่งหมายของ “อารยสถาปัตย์” (Friendly Design)
ความมุ่งหมายของ “อารยสถาปัตย์” (Friendly Design)
“อารยสถาปัตย์” คือ หลักการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design)
“อารยสถาปัตย์” มาจากการนำคำ 2 คำมารวมกันเพื่อให้เกิดความหมายใหม่ กล่าวคือ
(1) คำว่า “อารยะ” ซึ่งหมายถึง “เจริญ” มาจากคำว่า civilized ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าที่มนุษย์ได้กระทำขึ้นในด้านต่างๆ
(2) คำว่า “สถาปัตยกรรม” หรือ Architecture หมายถึง การออกแบบสิ่งก่อสร้าง และสภาพแวดล้อม ให้ใช้ประโยชน์ได้ มั่นคงแข็งแรง และสวยงาม
คำว่า “อารยสถาปัตย์” ในที่นี้ หมายถึง การออกแบบบ้านเรือน ตึก อาคาร สถานที่ สภาพแวดล้อม รวมถึงบริการสาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน ระบบการสื่อสาร ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้คนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย และทุกเชื้อชาติศาสนา สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ ใช้บริการได้ สะดวก ปลอดภัย ทันยุค ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม
อาจสอดคล้องกับความหมายในภาษาอังกฤษหลายคำ เช่น Inclusive Design (การออกแบบที่ทำให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้) หรือ Design for all (การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล) หรือ Universal Design (การออกแบบเพื่อคนทุกคน)
“อารยสถาปัตย์” ในที่นี้ ไม่ใช่แนวคิดเชิงการสงเคราะห์ การกุศล การบริจาคทาน หรือเพื่อความเมตตาสงสาร เพราะหากเป็นเช่นนั้น “อารยสถาปัตย์” ก็จะส่งผลได้ไม่ทั่วถึง และไม่ยั่งยืน
“อารยสถาปัตย์” เป็นเรื่องการส่งเสริม และพัฒนาสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันของมนุษย์ตามหลักกฎหมาย และกติกาสากล เป็นเรื่องของหน้าที่ที่ทุกคนพึงปฏิบัติตามกฎหมาย กติกาสังคม และกติกาโลกยุคใหม่
“อารยสถาปัตย์” จึงถือเป็นการออกแบบที่เจริญ ก้าวหน้า และพัฒนา ตามยุคตามสมัย และตามความจำเป็นของคนทุกวัยในสังคม
ด้วยเหตุนี้ “อารยสถาปัตย์” จึงเป็นแนวคิดเชิงก้าวหน้า ที่มีเป้าหมายเพื่อการรณรงค์ และส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทุกคนในสังคมพึงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ตามกติกาสังคม และกติกาโลกยุคใหม่ที่ต้องตอบโจทย์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Left No One Behind) อีกต่อไป
นอกจากนี้ “อารยสถาปัตย์” ยังเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมหลักการการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย” คือ ทุกคนย่อมมีสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกัน อีกทั้ง ยังส่งเสริมหลักการของ “สังคมนิยม” คือ ทุกคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และมีความสุข
“อารยสถาปัตย์” จึงเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในเบื้องต้น เพื่อคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย และเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล
*** คำว่า “อารยสถาปัตย์” เกิดจากแรงบันดานใจของกลุ่มมนุษย์ล้อชาวไทยจำนวนหนึ่ง ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการออกแบบบ้านเมืองของคนญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายปี พ.ศ.2548 ทำให้ได้เห็น และได้สัมผัสถึงการออกแบบสร้างทำตึกอาคาร สถานที่สาธารณะ และระบบขนส่งมวลชนต่างๆของญี่ปุ่น ที่ทำให้คนทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ ตลอดจนครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และคนที่ใช้รถเข็น สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ ใช้บริการได้ สะดวก ปลอดภัย อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน
แม้แต่คนพิการ หรือคนป่วยพักฟื้นที่ต้องนอนอยู่บนเตียงรถเข็นไฟฟ้า ก็ยังสามารถเดินทางใช้ชีวิตอิสระไปในสถานที่สาธารณะต่างๆได้ด้วยตัวของเขาเอง
การได้ไปเห็นการสร้างทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวลที่กรุงโตเกียวในครั้งนั้น ทำให้เราได้รู้ และตระหนักชัดถึงความสำคัญของการออกแบบบ้านเมืองของผู้คนในประเทศที่เจริญแล้ว ประเสริฐแล้ว พัฒนาแล้วนั้นเป็นอย่างไร จึงเป็นที่มาของคำว่า “อารยสถาปัตย์” ด้วยเหตุนี้
อีกทั้ง ยังทำให้เราหวนคิดไปได้ว่าที่ผ่านมา “เราถูกทำให้พิการ ด้วยสภาพแวดล้อมที่พิการ” และก่อให้เกิดความคิดที่ว่า “คนพิการไม่มี มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการ และการออกแบบที่พิการ”
ดังนั้น การจะแก้ปัญหาเรื่องความพิการ และคนพิการ ให้ตรงจุด เห็นผล อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนนั้น จะต้องเริ่มต้นแก้ไขที่ปัญหาสภาพแวดล้อมพิการ และการออกแบบที่พิการให้ได้ก่อน
(บทความ โดย นายกฤษนะ ละไล 7 พฤษภาคม 2561)