top of page
  • รูปภาพนักเขียนFD line

“อิทธิพล คุณปลื้ม” นำทัพขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิง


กระทรวงวัฒนธรรม กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ หรือการออกแบบและจัดทำสิ่งอำนวยความสะความต่างๆ สำหรับคนทุกกลุ่มวัย และทุกสภาพร่างกาย ด้วยหลักคิดการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่ใช้รถเข็น หรือมนุษย์ล้อ รวมถึงครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ให้สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ ไปท่องเที่ยวกันได้ สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม และทัดเทียมกับนานาอารยประเทศทั่วโลก

โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวในพิธีคิกออฟนโยบายอารยสถาปัตย์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อคนทั้งมวล ในงาน Thailand Friendly Design Expo 2022 : มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 5 เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ในปัจจุบัน เรื่องอารยสถาปัตย์ หรือการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเพื่อคนทั้งมวล ถือเป็นกติกาสากลที่นานาอารยประเทศทั่วโลกต่างยึดถือปฏิบัติและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัย ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของผู้พิการ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านธุรกิจการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง

“กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน วัดวาอาราม ฯลฯ ให้มีอารยสถาปัตย์ หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ที่จอดรถ ลิฟต์ ห้องสุขา ที่สามารถรองรับการเข้าถึงได้ และใช้งานได้ของนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัย ผู้พิการ และครอบครัว ให้ได้รับความสะดวก และปลอดภัย อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น” รมว.วัฒนธรรม กล่าวถึงภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อคนทั้งมวล

รมต.อิทธิพล กล่าวย้ำว่า บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมในปัจจุบัน นอกเหนือจากบทบาทด้านสังคมแล้ว ยังมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อคนทั้งมวล โดยเราได้มีการประชาสัมพันธ์การเข้าถึงเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่คนทุกวัยในครอบครัวสามารถไปเที่ยวได้ เข้าถึงได้ ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งทางลาด ที่จอดรถ ลิฟต์ ห้องสุขา รวมถึงป้ายสัญลักษณ์ เป็นต้น

“การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการศึกษาหาความรู้ในพื้นที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีการบอกเล่าเรื่องราวในการพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ ผ่านทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม องค์ความรู้ และการให้คุณค่าของสังคม ดังนั้น แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑสถาน โบราณสถาน วัดและศาสนสถาน ตลอดจนชุมชนวิถีถิ่นวิถีไทย ต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีอารยสถาปัตย์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม” รมว.วัฒนธรรม กล่าว

“กระทรวงวัฒนธรรมได้ขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของคนพิการ พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและท้องถิ่น โดยมุ่งส่งเสริมการต่อยอดวัฒนธรรมด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม โดยนำทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่หลากหลายมาต่อยอดในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” รมต.อิทธิพล กล่าวทิ้งท้าย

ในปัจจุบัน มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลายแห่งในทั่วทุกภูมิภาคของไทย ที่ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้มีอารยสถาปัตย์เพื่อการเข้าถึงได้ของคนทั้งมวล ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี หรือเขาวัง จ.เพชรบุรี ,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์, ชุมชนตะเคียนเตี้ย-ตลาดจีนโบราณชากแง้ว จ.ชลบุรี, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และวัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่, วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย, พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จ.ขอนแก่น , พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก จ.ยโสธร, พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี, พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา และ วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และคนชรา ฉบับปรับปรุงแก้ไขล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 ได้กำหนดให้อาคารที่ให้บริการสาธารณะ เช่น โรงมหรสพ โรงแรม หอประชุม สถานศึกษา หอสมุด ศาสนสถาน พิพิธภัณฑสถาน ฌาปนสถาน อาคารที่ทำการของราชการ สำนักงานเอกชน ตลาด และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น จะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และคนชรา

โดยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้ระบุไว้ในกฏกระทรวงฉบับนี้ มีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญ คือ ทางลาดมาตรฐาน ที่ต้องมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร มีความลาดชันไม่เกิน 1 : 12 หรือไม่เกิน 4.76 องศา และในทุกความยาว 6 เมตร ต้องจัดให้มีชานพักยาวไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร และต้องมีราวจับและราวกันตก เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และคนชราที่ใช้รถเข็น ในสัดส่วน 25 : 1 หมายความว่า ถ้ามีที่จอดรถทั่วไป 25 คัน จะต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการ และคนชราที่ใช้รถเข็น อย่างน้อย 1 คัน โดยให้จัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด

รวมถึงต้องจัดให้มีห้องสุขาสำหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และคนชรา โดยห้องสุขานี้จะต้องมีพื้นที่ว่างภายในห้องไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เพื่อให้ผู้ที่ใช้รถเข็นสามารถหมุนตัวกลับไปมาได้ และมีการติดตั้งราวจับที่ถูกต้องได้มาตรฐาน ส่วนประตูห้องน้ำควรเป็นแบบบานเลื่อน หรือเป็นแบบบานเปิดออกสู่ภายนอก เพื่อความสะดวกและปลอดภัย

เมืองไทยในปัจจุบัน มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านกฎหมาย และนโยบายจากรัฐบาล รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่พร้อมสนับสนุน และส่งเสริมให้ทุกตึกอาคาร สถานที่ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พัฒนาไปสู่การเข้าถึงได้ของคนทั้งมวล โดยสะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม และทัดเทียมกับนานาอารยประเทศทั่วโลก

-------------------------------------------------



ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page