top of page
รูปภาพนักเขียนFD line

ลำดับเหตุการณ์ การเรียกร้อง "ทางลาดขึ้น-ลงเครื่องบินเพื่อคนทั้งมวล"

รองรับสังคมผู้สูงวัย ส่งเสริมสิทธิการเดินทางของมนุษย์ล้อ ขับเคลื่อนธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (ผู้โดยสารลากกระเป๋าสัมภาระ ขึ้น-ลงเครื่องบินได้ สะดวก ปลอดภัยยิ่งขึ้น)

*** 9 กันยายน 2562

นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และประธานเครือข่ายทูตอารยสถาปัตย์ ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ได้นำคณะมนุษย์ล้อทูตอารยสถาปัตย์ เข้าพบ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น ซึ่งกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางอากาศให้มนุษย์ล้อ หรือผู้ที่ใช้รถเข็น (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้พักฟื้นสุขภาพ และผู้โดยสารที่มีกระเป๋าสัมภาระ) สามารถใช้บริการได้โดยสะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม และทัดเทียมกับนานาอารยประเทศทั่วโลก ดังนี้

(1) ขอให้มี “แผ่นพับทางลาด” สำหรับเชื่อมต่อระหว่างสะพานเทียบเครื่องบิน (งวงช้าง) กับประตูทางเข้าออกห้องผู้โดยสารบนเครื่องบิน เพื่อให้ผู้ที่ใช้รถเข็น สามารถเข็นรถวีลแชร์เข้า-ออกได้ โดยไม่ต้องยก เพราะการยกหรืออุ้มผู้โดยสาร อาจเกิดอุบัติเหตุอันตรายได้

(2) ขอให้มี “รถเข็นขนาดเล็ก” หรือ “เคบิ้น วีลแชร์” (Cabin Wheelchair) สำหรับให้บริการผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น ให้สามารถเข็นเข้าไปนั่งที่เบาะผู้โดยสารได้ โดยสะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องอุ้มผู้โดยสารที่เดินไม่ได้เข้าไปนั่งในเบาะโดยสารอย่างทุลักทุเลอย่างเช่นที่ผ่านมา โดย เคบิ้น วีลแชร์ ควรมีประจำสนามบินทุกสนามบิน และประจำสายการบินทุกสายการบิน

(3) ขอให้มี “รถไฮลิฟท์” หรือรถโดยสารที่มีการติดตั้งลิฟต์สำหรับยกผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยพักฟื้น ในกรณีที่สนามบินไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน (งวงช้าง) หรือใช้เป็นระบบทางลาดลำเรียงผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น ขึ้น-ลง เครื่องบิน

(4) ขอให้มีสายการบินต่างๆคำนึงถึงการออกแบบห้องน้ำในเครื่องบิน ที่สามารถรองรับการใช้บริการของผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น หรือวีลแชร์ได้ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้โดยสารต้องเดินทางบนเครื่องบินมากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป ห้องน้ำดังกล่าว ต้องออกแบบให้รถเข็นขนาดเล็ก หรือ เคบิ้น วีลแชร์ สามารถเข็นเข้าไปใช้บริการได้ ปิดประตูห้องน้ำได้ และมีราวจับเพื่อความปลอดภัย

*** 14 มกราคม 2563

นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และประธานเครือข่ายทูตอารยสถาปัตย์ ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ได้นำคณะมนุษย์ล้อทูตอารยสถาปัตย์ เข้าพบ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าตามข้อเสนอ 4 ข้อ ที่ได้เคยนำเสนอไปเมื่อ 9 กันยายน 2562 โดยได้ข้อสรุป คือ

(1) กระทรวงคมนาคม โดยกรมท่าอากาศยาน ซึ่งรับผิดชอบดูแลสนามบินภูธร ทั้ง 29 แห่ง ทั่วประเทศ มีแผนดำเนินการเพื่อการเข้าถึงท่าอากาศยานและอากาศยาน ในสนามบินที่ไม่มีสะพานเทียบเครื่องบินผู้โดยสารจะต้องนั่งรถบัสจากอาคารไปยังเครื่องบินที่หลุมจอด (Bus Gate) และต้องขึ้นบันไดไปยังเครื่องบิน กรมท่าอากาศยานจะดำเนินการจัดหา “สะพานเทียบอากาศยานแบบทางลาด” ในทุกสนามบิน

โดยในปี 2563 ได้ดำเนินการจัดหาทางลาดขึ้นลงเครื่องบิน จำนวน 15 แห่ง แห่งละ 1 ตัว วงเงินตัวละ 5.3 ล้านบาท งบประมาณรวม 79.5 ล้านบาท และปี 2564 จัดหาอีก 8 สนามบิน รวมวงเงินทั้งสิ้น 121.9 ล้านบาท

ปี 2563 ได้จัดหาทางลาดขึ้นลงเครื่องบิน ในสนามบินต่างจังหวัด รวม 15 แห่ง คือ พิษณุโลก, นครศรีธรรมราช, ตรัง, นครพนม, นราธิวาส, หัวหิน, แม่สอด, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, แพร่, น่าน, บุรีรัมย์, เลย, ร้อยเอ็ด, ระนอง

ปี 2564 ได้ดำเนินการจัดหาอีก 8 แห่ง คือ กระบี่, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, ชุมพร, สกลนคร, เบตง

ส่วนการแก้ปัญหาทางเชื่อมต่อระหว่างสะพานเทียบอากาศยาน (งวงช้าง) กับเครื่องบิน ซึ่งมีระดับไม่เสมอกัน เป็นอุปสรรกับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น กรมท่าอากาศยานจะได้จัดหา “แผ่นพับทางลาด” สำหรับใช้เชื่อมต่อเพื่อให้ผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น สามารถเข็นรถขึ้น-ลงได้โดยสะดวกมากขึ้น และจัดให้มีรถเข็นขนาดเล็ก หรือเคบิ้นวีลแชร์ สำหรับใช้ภายในเครื่องบิน รวมถึงให้ปรับปรุงหรือพัฒนาห้องน้ำสำหรับผู้พิการภายในสนามบินให้ใช้งานได้โดยสะดวกและเพียงพอ ซึ่งกรมท่าอากาศยานได้มีการดำเนินการในส่วนของห้องน้ำครบถ้วนแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบอีกครั้งว่ายังมีจุดไหนที่ต้องเพิ่มเติมอีกหรือไม่

*** ตุลาคม-ธันวาคม 2564

กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เริ่มทยอยจัดส่ง “สะพานเทียบอากาศยานแบบทางลาด” หรือ “ทางลาดขึ้น-ลงเครื่องบินสำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น หรือต้องลากกระเป๋าสัมภาระ” ในสนามบินต่างจังหวัด นำร่องกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ แต่สนามบินต่างๆ กลับนำไปจอดทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ได้นำมาให้บริการผู้โดยสารแต่อย่างใด

*** 29 มีนาคม 2565

นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และประธานเครือข่ายทูตอารยสถาปัตย์ ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ได้เดินทางไป จ.น่าน เพื่อบรรยายพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ให้แก่ชมรมที่พัก จ.น่าน ปรากฏว่า ช่วงขาไป ใช้บริการสายการบินนกแอร์ เมื่อถึงสนามบิน จ.น่าน ทางสนามบินน่าน ไม่ได้นำทางลาดขึ้นลงเครื่องบินออกมาให้บริการ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้มีการประสานแจ้งมาก่อน จึงใช้วิธีให้พนักงานชายประจำสนามบิน จำนวน 4 คน ยกผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นลงบันไดจากเครื่องบินมายังพื้นราบอย่างทุลักทุเล

วันเดียวกันนั้น นายกฤษนะ จึงได้ไปหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กับผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน และประธานชมรมที่พักจังหวัดน่าน ได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้น จะต้องแจ้งไปยังผู้อำนวยการสนามบินน่านให้นำทางลาดขึ้น-ลงเครื่องบินมาให้บริการผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นทุกครั้ง และต้องการให้นำออกมาใช้ในทุกเที่ยวบิน เพราะไม่เพียงแต่ผู้ที่ใช้รถเข็นเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่ยังรวมถึงผู้โดยสารที่มีกระเป๋าสัมภาระต้องถือ หรือลากขึ้นเครื่อง ก็จะได้รับความสะดวก ปลอดภัย มากยิ่งขึ้นไปด้วย

ขากลับจาก จ.น่าน ไปกรุงเทพฯ นายกฤษนะ และคณะ ได้ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบิน เวลา 17.15 น. วันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 ทางสนามบินน่าน ได้นำทางลาดขึ้นลงเครื่องบินสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น ออกมาให้บริการผู้โดยสารเป็นครั้งแรก ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของผู้โดยสารทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รวมถึงผู้แทนหน่วยงานต่างๆที่ได้มาเยี่ยมชมการใช้ทางลาดขึ้นลงเครื่องบินครั้งแรกในประวัติศาสตร์ธุรกิจการบินของประเทศไทยที่ จ.น่าน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน (ทกจ.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นต้น

นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้น ขอให้ผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น แจ้งกับสายการบินที่ท่านใช้บริการให้ประสานแจ้งไปยังสนามบินที่ท่านใช้บริการว่า ให้เตรียมทางลาดขึ้นลงเครื่องบินไว้ให้บริการด้วย เพื่อช่วยกันยกระดับการบริการขนส่งมวลชนทางอากาศเพื่อคนทั้งมวลของประเทศไทยให้ก้าวหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไปนะครับ



ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page