top of page
  • รูปภาพนักเขียนFD line

ดีเดย์ 1 เมษายน 65 เก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างขาติ

นำมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีอารยสถาปัตย์ รองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล กรณีที่รัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายเรียกเก็บเงิน “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หรือ “ภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ” คนละ 300 บาท โดยจะเริ่มเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไปนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในการเป็นประธานขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยเพื่อคนทั้งมวล และการเปิดตัว 20 จังหวัดนำร่องการขับเคลื่อนธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ในงาน Thailand Friendly Design Expo 2022 ว่า "เรื่องของการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดินของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวน 300 บาท ผมขออธิบายถึงนโยบายรัฐบาลว่า ทำไมถึงต้องมีความจำเป็นต้องเก็บเงินจากนักท่องเที่ยว สิ่งที่สำคัญประเด็นแรกคือ เงิน 300 บาท ส่วนหนึ่งเราจะนำมาซื้อประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยว โดยไม่ต้องเป็นภาระของรัฐบาลไม่ต้องเป็นภาระของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นงบประมาณที่มาจากเงินภาษีประชาชนของคนไทยทุกคน" รมว.ท่องเที่ยว กล่าวว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต แม้กระทั่งมารักษาตัวในประเทศไทย พวกเราคนไทยคงไม่ทราบว่าในแต่ละปีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาก่อนหน้านี้คือ ตั้งแต่ปี 2562 ถอยหลังไป ทางกระทรวงสาธารณสุขจะต้องสำรองเงินโดยไปเอาเงินจากงบกลางมาชำระค่ารักษาพยาบาลให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามารักษาพยาบาลและเดินทางกลับ หรือการประกันของนักท่องเที่ยวประมาณในส่วนที่มารักษาเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาท สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าทุกคนคงไม่ทราบ วันนี้ผมต้องมาขออธิบายเหตุผลและความจำเป็นในการที่เราจะเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ดังนี้ (1) เรื่องที่เรานำเอาภาษีของคนไทยมาให้นักท่องเที่ยว ถามว่ายุติธรรมกับคนไทยเราหรือไม่ ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมกับพวกเรา เราควรนำเงินภาษีที่ท่านได้เสียนั้นมาใช้ในกิจกรรมของคนไทย (2) เงินเหล่านี้ ส่วนที่เหลือจากเงินประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ วงเงินประกันคงไม่เกิน 50 บาท เหลืออีก 250 บาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเอาไปดำเนินการ สนับสนุนท้องถิ่นหรือกระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงทรัพพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นเจ้าของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ในการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และที่สำคัญคือ นำไปพัฒนาสร้างทำอารยสถาปัตย์ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ "สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และมนุษย์ล้อ และโดยเฉพาะทางลาดมาตรฐาน 1 ต่อ 12 คือถ้าพื้นสูง 1 เมตร ต้องทำทางลาดยาว 12 เมตร และทุกๆความยาว 6 เมตรจะต้องมีชานพักเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น ในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หรือ เฟรนด์ลี่ ดีไซน์ (Friendly Design) เราจะต้องรีบนำมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในการเดินทางให้สามารถเข้าถึงได้ทุกคน เราจะต้องให้การบริการให้ได้รับความสะดวก ให้ทุกคน ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ มนุษย์ล้อ หรือผู้ด้อยโอกาส ต้องมีโอกาสไปถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ ไปชมความสวยงามได้อย่างเท่าเทียมเหมือนทุกคน โดยสะดวก และปลอดภัยตามหลักการอารยสถาปัตย์ ซึ่งเราจะได้ร่วมมือกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวลต่อไป" รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าว อย่างไรก็ตาม รายได้จากการจัดเก็ยภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะนำเข้าสู่กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาทักษะด้านการบริหาร การตลาด ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงการดูแลรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว และการส่งเสริมสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ในท้องถิ่น เช่น การนำเงินไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทางลาดขึ้นลงสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และ สร้างห้องน้ำมาตรฐานสำหรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัยและทุกสภาพร่างกาย



ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page