top of page

"ทีเส็บ"จับมือ"มูลนิธิอารยสถาปัตย์ฯ"เปิดตัวคู่มือการออกแบบมาตรฐานรองรับ"ไมซ์ ฟอร์ ออล"ที่ จ.อุดรธานี



สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับ มูลนิธิสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เตรียมเปิดตัวคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Friendly Design Venue Guide book for MICE ในวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น. ณ มลฑาทิพย์ ฮอลล์ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า นานาชาติ จังหวัดอุดรธานี



นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวถึงการเปิดตัวคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวลในครั้งนี้ว่า มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับสถานที่จัดงาน ศูนย์ประชุม นิทรรศการ บริการสาธารณะ และแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ในการปรับปรุงและพัฒนาให้พร้อมรองรับผู้ใช้บริการได้ทุกกลุ่มวัย ทุกสภาพร่างกาย และรองรับธุรกิจไมซ์เพื่อคนทั้งมวล (MICE For All) เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นเมือง “ไมซ์ซิตี้ ฟอร์ ออล” ในระดับสากลต่อไป



"เป็นคู่มือแนวปฏิบัติสำหรับสถานที่จัดงานให้สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ทุกกลุ่มวัย ทุกสภาพร่างกาย รวมถึงการดึงงานประชุม งานแสดงสินค้า และงานอีเวนต์ของกลุ่มคนทั้งมวลมายังประเทศไทยมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเลือกใช้ตามได้อย่างถูกต้อง สร้างการรับรู้สู่ภาคปฏิบัติเรื่อง MICE For All ให้แก่ผู้บริหาร / ผู้แทน องค์กร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจไมซ์ การท่องเที่ยว และโรงแรม เป็นการผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นเมืองไมซ์เพื่อคนทั้งมวล" ผอ.ทีเส็บ กล่าว



ส่วนสาเหตุที่มาเปิดตัวที่ จ.อุดรธานี เพราะ จังหวัดอุดรธานีได้รับเลือก

สมาคมพืชสวนโลก(International Association of Horticultural Producers หรือ AIPH) ให้เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับโลกในปี 2569 คือ งานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ภายใต้แนวคิด ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต โดยเตรียมใช้พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแดเป็นสถานที่จัดงาน ในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่



นายกฤษนะ ละไล กล่าวว่า การจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาธุรกิจไมซ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงกติกาสากลว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดและขยายตลาดไมซ์ของประเทศไทยสู่เป้าหมายเพื่อคนทั้งมวล เป็นการส่งเสริมและสร้างโอกาสใหัประเทศไทยได้ก้าวไปสู่ความเป็นประเทศมหาอำนาจทางด้านธุรกิจไมซ์เพื่อคนทั้งมวลในระดับมาตรฐานสากลอย่างน่าภาคภูมิใจ

Friendly Design หมายถึง หลักการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นมิตรกับคนทั้งมวล ซึ่งในปัจจุบัน มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนที่ใช้รถเข็น สามารถเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ เช่น ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก รวมทั้งใช้ประโยชน์สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ก้าวหน้าทันสมัยให้แก่สังคม และประเทศชาติ


นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพประเทศไทยให้สามารถรองรับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ทุกกลุ่มวัยจากทั่วโลกได้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาส และขยายขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน


ดู 17 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page